วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

                                    

                                    พลังงานไฟฟ้า 



                 ปัจจุบันไฟฟ้ามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น ประเทศที่จะพัฒนาได้นั้นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามาก เพราะว่าเครื่องมือหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ต้องใช้ไฟฟ้าถึงแม้ว่าไฟฟ้าจะมีประโยชน์แต่มีโทษแก่มนุษย์เหมือนกันถ้าใช้ไฟฟ้าอย่างประมาท


ความหมายทางไฟฟ้า
  1. แรงดันไฟฟ้าหรือแรงเคลื่อนไฟฟ้า หมายถึง แรงที่ดันให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านความต้านทานของวงจรไปได้ ใช้แทนด้วยตัว E มีหน่วยวัดเป็นโวลท์ (V) 
  2. กระแสไฟฟ้า หมายถึง การเคลื่อนที่ของอิเลคตรอนอิสระจากอะตอมหนึ่งไปยังอะตอมหนึ่ง จะไหลมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้านทานของวงจร ใช้แทนด้วยตัว I มีหน่วยวัดเป็นแอมแปร์ (A) 
  3. ความต้านทานไฟฟ้า หมายถึง ตัวที่ต้านการไหลของกระแสไฟฟ้าให้ไหลในจำนวนจำกัด ซึ่ง อยู่ในรูปของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิด เช่น แผ่นลวดความร้อนของเตารีด หม้อหุงข้าว หลอดไฟฟ้า เป็นต้น เครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ต้านการไหลของกระแสไฟฟ้าให้ไหลในจำนวนจำกัด ใช้แทนด้วยตัว R มีหน่วยวัดเป็นโอห์ม (W ) 
  4. กำลังงานไฟฟ้า หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงพลังงาน หรืออัตราการทำงาน ได้จากผลคูณของแรงดันไฟฟ้ากับกระแสไฟฟ้า ใช้แทนด้วยตัว P มีหน่วยวัดเป็นวัตต์ (W) 
  5. พลังงานไฟฟ้า หมายถึง กำลังไฟฟ้าที่นำไปใช้ในระยะเวลาหนึ่ง มีหน่วยวัดเป็นวัตต์ชั่วโมง (Wh) หรือยูนิต ใช้แทนด้วยตัว W 
  6. ไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าช็อต หมายถึง การที่ไฟฟ้าไหลผ่านจากสายไฟฟ้าเส้นหนึ่งไปยังอีกเส้นหนึ่ง โดยไม่ผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือโหลดใดๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฉนวนของสายไฟฟ้าชำรุด และมาสัมผัสกันจึงมีความร้อนสูง มีประกายไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ถ้าบริเวณนั้นมีวัสดุไวไฟ 
  7. ไฟฟ้าดูด หมายถึง การที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย ซึ่งจะทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หัวใจทำงานผิดจังหวะ เต้นอ่อนลงจนหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด แต่อย่างไรก็ตามความรุนแรงของอันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแส เวลาและเส้นทางที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่าน 
  8. ไฟฟ้ารั่ว หมายถึง สายไฟฟ้าเส้นที่มีไฟจะไหลไปสู่ส่วนที่เป็นโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้า ถ้าไม่มีสายดินก็จะทำให้ได้รับอันตราย แต่ถ้ามีสายดินก็จะทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลอยู่นั้นไหลลงดินแทน 
  9. ไฟฟ้าเกิน หมายถึง การใช้ไฟฟ้าเกินกว่าขนาดของอุปกรณ์ตัดตอนทางไฟฟ้า ทำให้มีการปลดวงจรไฟฟ้า อาการนี้สังเกตได้คือจะเกิดหลังจากที่ได้เปิดใช้ไฟฟ้าสักครู่หรืออาจนานหลายนาทีจึงจะตรวจสอบเจอ

ชนิดของไฟฟ้ามี 2 ชนิด ได้แก่
ไฟฟ้าสถิต ซึ่งเกิดจากการนำวัตถุ 2 ชนิด มาขัดถูหรือเสียดสีกัน วัตถุแต่ละชนิดจะมีประจุไฟฟ้าบวก ( + ) และประจุไฟฟ้าลบ ( - ) อยู่ในตัวเท่า ๆ กัน เรียกว่า เป็นกลาง เมื่อเกิดเสียดสีขึ้นประจุไฟฟ้าลบ ( - ) ที่เบากว่าประจุไฟฟ้าบวก ( + ) ก็จะเคลื่อนที่ระหว่างวัตถุทั้งสอง ทำให้แสดงอำนาจไฟ-ฟ้าขึ้นประจุไฟฟ้าในวัตถุทั้งสอบก็จะไม่เป็นกลางอีกต่อไป วัตถุชนิดหนึ่งแสดงประจุไฟฟ้าบวกและอีกชนิดหนึ่งแสดงประจุไฟฟ้าลบ พลังงานไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดแรงดูดหรือแรงผลัก ถ้านำวัตถุที่มีประจุไฟฟ้าชนิดเดียวกันมาใกล้กันจะเกิดแรงผลักแต่ถ้ามีประจุไฟฟ้าต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดซึ่งกันและกัน 
ไฟฟ้ากระแส เกิดขึ้นจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แหล่งกำเนิดไฟฟ้ากระแสมีหลายวิธี ได้แก่
  1. ไฟฟ้าจากปฏิกิริยาถ้าเราจุ่มแผ่นทองแดงและแผ่นสังกะสีลงในกรดกำมะถันเจือจางโดยวางให้ห่างกัน ต่อหลอดไฟระหว่างแผ่นโลหะทั้งสองหลอดไฟจะติดสว่าง เซลล์ไฟฟ้านี้เรียกว่า เซลล์เปียก หรือเซลล์ไฟฟ้าของโวลตาซึ่งเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างแผ่นโลหะกับกรดกำมะถันจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าไหลในวงจรจากแผ่นทองแดงไปยังแผ่นสังกะสี เช่น การใช้ทำถ่านไฟฉายมีหลักการทำงานเช่นเดียวกับเซลล์ของโวลตา แต่เปลี่ยนสารละลายมาเป็นกาวที่ชุ่มด้วยปงถ่านแมงกานีสไดออกไซด์และแอมโมเนียมคลอไรด์บรรจุในภาชนะสังกะสีและใช้แท่งคาร์บอนแทนแผ่นทองแดง เราเรียกว่า เซลล์แห้ง

    ไฟฟ้าที่ได้จากปฏิกิริยาเคมีมีทิศทางการไหลแน่นอนจากขั้วบวกไปยังขั้วลบ เช่น ไฟฟ้าจากถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่รถยนต์ เราเรียกการไหลเช่นนี้ว่า ไฟฟ้ากระแสตรง เมื่อใช้ถ่านไฟฉายไปนานๆ กระแสไฟจะค่อยลดลงเรื่อย ๆ จนหมดไปแต่มีถ่านไฟฉายบางชนิดซึ่งทำมาจากนิเกิลกับแคดเมียมสามารถนำมาประจุไฟใหม่ได้ 
  2. ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไฟฟ้าที่เราใช้ตามอาคารบ้านเรือนเป็นไฟฟ้าที่

    เกิดจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า ไดนาโมหรือเจเนอเรเตอร์ซึ่งภายในประกอบด้วยขดลวดทองแดงเคลื่อนที่ตัดเส้นแรงแม่เหล็กหรืออาจเคลื่อนที่แม่เหล็กตัดขวดลวดทองแดงที่อยู่กับที่ ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าในขดลวดไหลกลับไปกลับมาระหว่างขั้วบวกและขั้วลบ เรียกว่า ไฟฟ้ากระแส-สลับ 
  3. เซลล์สุริยะ เป็นการนำแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่เนื่องจากเซลล์สุริยะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะในช่วงเวลาที่แสงว่างเท่านั้นจึงต้องเก็บสะสมพลังงานไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ก่อนแล้วจึงจ่ายกระแสไฟฟ้าเมื่อต้องการใช้ โดยทั่วไปการนำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์สุริยะไปใช้กับเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามครัวเรือนจะต้องแปลงกระแสไฟฟ้าที่เก็บสะสมไว้ในแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นกระแสตรงให้เป็นกระแสไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้านเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระแสสลับเสียก่อน
พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันตามบ้านเรือนส่วนใหญ่มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าโดยอาศัยหลักการเหนี่ยวนำแม่เหล็กไฟฟ้า พบว่าเมื่อนำแท่งแม่เหล็กเคลื่อนที่เข้าใกล้ขดลวดที่ปลายทั้งสองต่อเข้ากับเครื่องกัลวานอมิเตอร์ เข็มกัลวานอมิเตอร์จะกระดิกได้ แสดงว่ามีกระแสไฟฟ้าผ่าน แต่เมื่อแท่งแม่เหล็กหยุดเข็มกัลวานอมิเตอร์จะกระดิกอีกแต่คนละทาง ถ้าเคลื่อนที่แท่งแม่เหล็กเข้าออกด้วยความเร็วที่ไม่เท่ากันปริมาณกระแสไฟฟ้าก็จะแตกต่างกันด้วย คือ ถ้าแม่เหล็กเคลื่อนที่เร็วกระแสไฟฟ้าที่เกิดในขดลวดก็จะมีปริมาณมากกว่าแท่งแม่เหล็กเคลื่อนที่ช้า ถ้ากลับขั้วแท่งแม่เหล็กที่เคลื่อนที่เข้าหาขดลวดทิศทางของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะตรงกันข้ามกับตอนแรก จากหลักการนี้นักวิทยาศาสตร์ใช้ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ 2 ประเภท คือ
  1. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าตรง (Direct current generators) ประกอบด้วยขดลวดทองแดงที่สามารถหมุนได้คล่องตัวในสนามแม่เหล็กโดยที่ปลายทั้งสองของขดลวดสัมผัสกับวงแหวนผ่าซีก ซึ่งเป็นจุดที่จะนำกระแสไฟฟ้าไปใช้กับเครื่องใช้ต่าง ๆ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดนี้มักคุ้นเคย เพราะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้ในรถยนต์ เรียกว่า D.C. generator แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยใช้ เพราะข้อเสียที่ต้องใช้เวลานานมากที่ให้ประจุไฟฟ้ากับหม้อแบตเตอรี่
  2. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าสลับ (Alternating current generator) ใช้หลักการเดียวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดกระแสไฟฟ้าตรง แตกต่างกันที่ใช้วงแหวนสองวงต่อเข้าที่ปลายลวดทั้งสองของขดลวดทองแดงแทนวงแหวนฝ่าซีก ถ้าต่อไฟฟ้าที่ได้จากเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าชนิดนี้ให้กับหลอดไฟจะเห็นว่าหลอดไฟจะสว่างสลับกับมืดเป็นจังหวะ ทั้งนี้เนื่องจากกระแสไฟฟ้าที่ออกมามีปริมาณทั้งบวกและลบในช่วงเวลาหนึ่ง ถ้าหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเร็วการกระพริบของหลอดไฟจะเร็วตามไปด้วย ถ้าหมุนช้าหลอดไฟก็จะกระพริบช้า การเปลี่ยนกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจาก ไฟฟ้ากระแสสลับเปลี่ยนมาเป็นกระแสไฟฟ้าตรงทำได้ง่ายกว่ากระแสไฟฟ้าตรงมาเป็นกระแสไฟฟ้าสลับ
โรงผลิตกระแสไฟฟ้า 




โรงไฟฟ้าเป็นแหล่งผลิต พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตามอาคารบ้านเรือนในชุมชนต่างๆ กระแสไฟฟ้า ที่เราใช้อำนวยความสะดวกทุกวันนี้มาจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าใช้พลังงานหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่างกัน และมักจะเรียกโรงไฟฟ้านั้นตามด้วยชื่อของระบบพลังงานที่ใช้เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โรงไฟฟ้าดีเซล โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ และโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รูปแบบของโรงไฟฟ้ามีลักษณะ ดังนี้
  1. โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ได้แก่โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำหน้าเขื่อนมาหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เนื่องจากน้ำที่อยู่ในระดับสูงจะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอด้วยแรงดึงดูดของโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ น้ำตกตามเชิงเขาต่าง ๆ น้ำที่ตกนี้ถ้ามีปริมาณมากพลังงานของน้ำ สามารถนำไปใช้หมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ ดังนั้นการสร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้ต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเก็บน้ำให้มีปริมาณมากพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยให้น้ำไหลผ่านตามท่อส่งน้ำ ซึ่งผ่านเครื่องกังหันน้ำทำให้กังหันน้ำหมุนได้ การหมุนจะทำให้แกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุน และผลิตกระแสไฟฟ้าออกมา 
  2. โรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อน การผลิตกระแสไฟฟ้าแบบนี้ต้องใช้เชื้อเพลิง เพื่อต้มน้ำให้มีความร้อนสูงไอน้ำที่ได้มีแรงดันพอที่จะไปดันกังหันให้หมุนได้ บางทีโรงไฟฟ้าชนิดนี้อาจเรียกตามเชื้อเพลิงที่ใช้ในการต้มน้ำให้เดือด เช่น โรงไฟฟ้าลิกไนต์, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าน้ำมันเตา, โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น หลักการในการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงนั้นอาศัยการ ต้มน้ำให้เดือดที่ความดันสูงไอน้ำที่ได้จะมีความดันสูง และมีแรงพอที่จะไปหมุนกังหันน้ำ เมื่อกังหันน้ำหมุนแกนของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็จะหมุนตามก็จะได้กระแสไฟฟ้าออกมา 
  3. โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ เป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้แรงดันจากก๊าซที่ร้อนจัดความดันสูงไปหมุนแกนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก๊าซที่มีคุณสมบัติดังกล่าวทำให้ได้โดยการอัดอากาศให้มีปริมาตรเล็กลงจะทำให้อากาศมีอุณหภูมิสูง และเมื่อถึงจุดนี้จึงฉีดเชื้อเพลิงเข้าไป อาจจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซก็ได้เชื้อเพลิงที่ฉีดเข้าไปจะถูกเผาไหม้อย่างรวดเร็วทำให้ได้ก๊าซที่ร้อนจัด และแรงดันสูง เมื่อผ่านก๊าซนี้เข้าไปยังกังหัน ๆ จะหมุนได้ และทำให้แกนเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าหมุนตามจะได้กระแสไฟฟ้าตามต้องการ หลักการของโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซนี้ ถ้าพิจารณาแล้ว เป็นหลักการเดียวกันกับเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กับรถยนต์ 
  4. โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ร่วมกันสองระบบ คือ โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซ กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนโดยใช้ไอเสียของก๊าซที่ยังร้อนอยู่นำมาต้มน้ำให้เดือน พลังงานไอน้ำที่ได้นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกเป็นการใช้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด 
  5. โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ โรงไฟฟ้าชนิดนี้จำเป็นต้องมีเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูอยู่ใกล้เพื่อเป็นแหล่งผลิตพลังงานความร้อนนำไปหมุนกังหัน เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ความร้อนที่ได้จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูนี้มีมาก ซึ่งได้มาจากปฏิกิริยาการแตกตัวของนิวเคลียร์ เรียกว่า นิวเคลียร์ฟิชชั่น เกิดได้โดยการยิงอนุภาคนิวตรอนเข้าไปชนกับนิวเคลียส เช่น ยูเรเนียม 235 นอกจากจะได้พลังงานความร้อนจากปฏิกิริยาแล้วยังได้นิวตรอนใหม่เกิดขึ้นด้วย และนิวตรอนที่เกิดใหม่นี้จะไปชนนิวเคลียสอื่น ๆ ของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ต่อไปเช่นนี้เรื่อย ๆ เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้ได้พลังงานคามร้อนออกมาจำนวนมหาศาล และพลังงานดังกล่าวนี้สามารถนำไปต้มน้ำหรือสารเคมีเหลวที่ความดันสูงทำให้น้ำหรือสารเคมีเหลวที่ถูกต้มมีความร้อนสูงมาก (super heated) แล้วนำน้ำส่วนนี้ไปต้มน้ำอีกระบบหนึ่ง ซึ่งไอน้ำที่พลังงานมากพอที่จะไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า                                                                                                                                                      วงจรไฟฟ้า




เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทำงานได้เพราะกระแสไฟฟ้าเดินทางจากแหล่งกำเนิดผ่านสายไฟหรือลวดตัวนำ มายังหลอดไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนย้อนกลับสู่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าครบเป็นวงจร ดังนั้นวงจรไฟฟ้าจึงประกอบด้วยแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ลวดตัวนำ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
  • การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบอนุกรมเป็นการต่อเซลล์ไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วลบเรียงกันไปตามลำดับเพื่อให้กระแสไฟฟ้าเดินทางเดียวทำให้หลอดไฟสว่างกว่า
  • การต่อเซลล์ไฟฟ้าแบบขนานซึ่งเป็นการต่อเซลล์ไฟฟ้าขั้วบวกกับขั้วบวกขั้วลบกับขั้วลบทางเดินไฟฟ้าจะแยกออกเป็น 2 ทางทำให้หลอดไฟสว่างน้อยกว่าแบบอนุกรม
ตัวนำไฟฟ้าและฉนวนไฟฟ้า 
ถ้าลองปอกสายไฟฟ้าดูข้างในจะเห็นสายเล็กๆ ข้างในทำด้วยลวดทองแดง วัตถุที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้เรียกว่า ตัวนำไฟฟ้า ตัวนำไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือ เงิน รองลงมาคือ ทองแดง โลหะต่างๆ เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีส่วนวัตถุที่ไม่ยอมให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านเรียกว่า ฉนวนไฟฟ้า เช่น ยาง พลาสติก กระดาษ และไม้ ส่วนที่หุ้มสายไฟฟ้าไว้เป็นยางหรือพลาสติกเพื่อสะดวกในการใช้และป้องกันอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ควรรู้จัก 
การเดินทางของไฟฟ้าภายในบ้านเรือนนั้นต้องไหลผ่านอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด ดังนี้
  1. มิเตอร์ไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ต่อจากเสาไฟฟ้าหน้าบ้านเราจะต้องเดินทางผ่านมิเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน
  2. แผงไฟ เป็นศูนย์รวมของสายไฟในบ้านและฟิวส์
  3. สะพานไฟ หรือ สวิตช์ตัดตอน ( Cut Out ) เมื่อกระแสไฟฟ้าในบ้านมากเกินไป เครื่องจะตัดไฟโดยอัตโนมัติ
  4. ฟิวส์เป็นลวดหรือแผ่นโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าแต่มีจุดหลอมเหลวต่ำ เช่น ดีบุกผสมตะกั่ว ต่อไว้ในวงจรไฟฟ้า ถ้ากระแสไฟฟ้า ถ้ากระแสไฟฟ้าเกินกำหนดหรือไฟฟ้าลัดวงจรฟิวส์จะขาดทำให้วงจรเปิดซึ่งเป็นการป้องกันอุบัติเหตุเพลิงไหม้
  5. ปลั๊กไฟฟ้าเป็นส่วนเชื่อมจากสายไฟสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ประกอบด้วย เต้าเสียบหรือปลั๊กตัวผู้และเต้ารับหรือปลั๊กตัวเมีย
  6. สวิตช์เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ปิดเปิดวงจรไฟฟ้า มีรูปร่างลักษณะหลายแบบ
  7. หลอดไฟ เป็นอุปกรณ์ให้ความสว่างมีหลายชนิด เช่น หลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ (นีออน) หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (หลอดชนิดนี้กันไฟน้อยกว่าหลอดไส้ อายุการใช้งานนานกว่าและมีความร้อนน้อยกว่าจึงไม่ถ่ายเทความร้อนให้สิ่งแวดล้อมเท่าหลอดไส้แต่มีราคาค่อนข้างแพง)
       การผลิตไฟ้ฟ้า  
       การผลิตพลังงานไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าวข้างต้น พบว่า ที่ผ่านมาการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนสูงสุด ตามมาด้วยเชื้อเพลิงลิกไนต์/ถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน พบว่า การใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 67 ของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด ตามมาด้วยเชื้อเพลิงลิกไนต์/ถ่านหินมีสัดส่วนร้อยละ 20 ส่วนเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ที่เหลือมีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 13 เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลหลักดังกล่าว

หมายเหตุ   *ข้อมูลปี 2556 มีเฉพาะถึงเดือนพฤศจิกายน (ตั้งแต่ เดือน ม.ค.-พ.ย. 2556)


รูปที่ 2.28  แนวโน้มการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ปี 2546-2556



รูปที่ 2.29  สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบ่งตามประเภทเชื้อเพลิง ณ สิ้นปี 2556

ที่ผ่านมาการผลิตพลังงานไฟฟ้าเกือบทั้งหมดจะได้จากระบบผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. แต่เนื่องด้วยนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (กฟผ.) ของรัฐบาล โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมใน การผลิตกระแสไฟฟ้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ จึงส่งผลให้สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากภาคเอกชนค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลการผลิตพลังงานไฟฟ้า ณ เดือนธันวาคม 2556 พบว่า การผลิตพลังงานไฟฟ้าของระบบ กฟผ. มีสัดส่วนทั้งสิ้น ร้อยละ 44 โดยสัดส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 56 จะเป็นการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP SPP และ VSPP) รวมถึงการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศอีกด้วย


รูปที่ 2.30  แนวโน้มการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา


รูปที่ 2.31  สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยที่ผ่านมา

                              รูปที่ 2.32  สัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ณ เดือนธันวาคม 2556
     ที่มา : http://www.baanjomyut.com/library_2/energy_and_quality_of_life/12.html
              http://www.touchtechdesign.com/eppo/